แนะนำวิธีการไปดูซูโม่ที่ญี่ปุ่นตั้งแต่ต้นจนจบ ตั้งแต่การจองตั๋ว เวลาแข่ง สถานที่แข่ง ที่นั่ง มารยาท กิจกรรมที่น่าสนใจในสนามซูโม่ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับซูโม่ บรรยากาศรอบสนามซูโม่และสิ่งที่น่าทำในวันที่ไปดูซูโม่
ซูโม่คืออะไร
“ซูโม่” คือหนึ่งในกีฬาญี่ปุ่นแท้ๆที่คนชอบอะไรญี่ปุ่นๆ ควรจะลองไปดูซักครั้ง นอกจากจะเป็นกีฬาที่มีประวัติยาวนานกว่า 1,500 ปีแล้ว ยังมาพร้อมกับเอกลักษณ์มากมายที่หาชมในกีฬาอื่นไม่ได้ ตั้งแต่การแต่งกาย ทรงผม และวิถีชีวิตของนักซูโม่เองก็เป็นสิ่งน่าสนใจไม่แพ้การแข่งขัน รวมถึงพิธีกรรมก่อนและหลังแข่ง เนื่องจากซูโม่ไม่ได้เป็นแค่กีฬาที่แข่งเอาแพ้ชนะ แต่ยังมีความหมายในทางศาสนาและวัฒนธรรมอื่นๆที่แฝงมาด้วย ทำให้เป็นกีฬาที่มีประเพณีแฝงมาให้ชมเยอะพอสมควร ไม่ได้มีให้ดูแค่ผลแพ้ชนะเท่านั้น
กฏกติกามารยาทของการแข่งซูโม่นั้นจริงๆแล้วง่ายดายเอามากๆ การตัดสินแพ้ชนะกันมีกฏแค่ไม่กี่อย่างเท่านั้น
1 ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งล้มลงบนพื้นได้
2 ทำให้อวัยวะส่วนอื่นนอกเหนือจากเท้าแตะพื้นได้
3 ทำให้ร่างกายคู่ต่อสู้ออกจากลานแข่งขันได้
ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้การตัดสินแพ้ชนะของซูโม่ทำได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น คนที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยดูซูโม่มาก่อนอาจมองว่าเป็นกีฬาที่ไม่มีอะไรดูเพราะจบอย่างรวดเร็ว แต่เราขอแนะนำว่าการไปดูซูโม่นั้น ไม่ได้ดูแค่ผลแพ้ชนะ แต่ไปเพื่อสัมผัสประเพณี พิธีกรรม และบรรยากาศต่างๆที่อยู่รอบๆการแข่งซูโม่ด้วย
ที่สำคัญการแข่งซูโม่ในวันหนึ่งนั้นมีหลายร้อยคู่ ทำให้สนุกได้ยาวๆ ตื่นเต้นได้ตลอดวัน อย่างคู่ที่เก่งๆนั้นก็แข่งกันได้สนุกแบบที่คุ้มค่าแม้คู่นึงจะใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที เทคนิคต่างๆที่น่าสนใจ หากนั่งดูให้ดีก็จะเห็นว่ามีการโจมตีที่สามารถใช้ได้มากมาย ไม่ได้ใช้แค่พลังและน้ำหนักกดอีกฝ่าย แต่ยังมีการโต้กลับ การหลอกล่อ การใช้แรงของอีกฝ่ายให้เป็นประโยชน์ ทุกครั้งนักซูโม่ที่ตัวเล็กล้มนักซูโม่ที่ตัวใหญ่กว่าได้กองเชียร์ในสนามจะโห่ร้องกึกก้อง เป็นบรรยากาศที่น่าไปสัมผัสด้วยตัวเอง
ในหนึ่งวันซูโม่จะมีแข่งครบทุกระดับไล่จากระดับล่างสุดจนสูงสุด นักซูโม่แทบทุกคนจะได้มาแข่ง 1 แมตช์แน่ๆทุกวัน ยกเว้นคนที่ได้พัก โดยในแต่ละวันที่มีแข่งก็จะเริ่มแข่งตั้งแต่ประมาณแปดโมงครึ่งในยามเช้า ซึ่งเริ่มจาก Banzukegai ไล่ไปเรื่อยๆ โดยระดับล่างๆที่แข่งในตอนเช้านั้นแทบจะไม่มีคนดู ส่วนระดับที่ยิ่งสูงก็จะยิ่งมีคนเข้ามาดูมากขึ้น แฟนซูโม่ตัวจริงส่วนใหญ่จะนั่งติดเก้าอี้ตั้งแต่ประมาณบ่ายสอง (ช่วงที่ระดับ Juryo เริ่มแข่ง) ไปจนจบการแข่งของ Makuuchi ประมาณหกโมงเย็น ถ้าคุณอยากไปชมนักซูโม่เก่งๆเป็นหลักก็ไม่จำเป็นต้องมาแต่เช้าก็ได้ แต่แนะนำให้มาตั้งแต่ประมาณระดับ Juryo แข่ง
ซูโม่แข่งกันที่ไหนเมื่อไหร่
การแข่งขันซูโม่ในญี่ปุ่น ไม่เหมือนกับลีกกีฬาใหญ่ๆอย่างเช่นฟุตบอล ที่จะแบ่งรอบตามฤดูกาลหรือรอบเวลาของปีๆละรอบ แต่ซูโม่จะแบ่งออกเป็นรอบเล็กๆซึ่งปีนึงมีแข่งถึง 6 รอบ และหนึ่งรอบใช้เวลาแข่งแค่สิบห้าวันเท่านั้นก็รู้ว่าใครเป็นแชมป์
ทั้งหกรอบจะจัดกันคนละเวลาและคนละสถานที่ เดือนที่จัดก็คือเดือน 1, 3, 5, 7, 9, 11 โดยในหกครั้งนี้ สามครั้งแข่งที่โตเกียว และที่เหลือแบ่งกันจัดที่โอซาก้า นาโกย่า และฟุกุโอกะ เมืองละหนึ่งครั้ง
เดือน 1, 5, 9 สามครั้ง แข่งที่โตเกียว
เดือน 3 แข่งที่โอซาก้า
เดือน 7 แข่งที่นาโกย่า
เดือน 11 แข่งที่ฟุกุโอกะ
โดยการแข่งซูโม่แต่ละรอบซึ่งจะใช้เวลาสิบห้าวันนั้น ในแต่ละวันก็มักจะมีการแข่งให้ดูเป็นร้อยๆคู่โดยไล่ตั้งแต่นักซูโม่ระดับล่างสุดไปจนระดับบนสุดเลย นักซูโม่ในวงการแทบทุกคนจะมีตารางได้ลงแข่งหนึ่งแมตช์ในทุกๆวัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเลือกไปดูวันที่เท่าไหร่ก็สามารถดูนักซูโม่ดังฝีมือดีได้
สถานที่ดูซูโม่ในญี่ปุ่น
หลังจากเลือกเดือนที่จะไปชมได้แล้ว ก็ต้องเลือกสถานที่ๆจะไปให้ตรงตามที่จัด
สำหรับการแข่งขันทั้งสามรอบของโตเกียวนั้น จะแข่งที่เดียวกันทั้งหมดคือที่ Ryogoku Kokugikan
การแข่งขันที่โอซาก้าจัดขึ้นที่ Osaka Prefectural Gymnasium (Edion Arena Osaka)
การแข่งขันที่นาโกย่าจัดขึ้นที่ Aichi Prefectural Gymnasium
การแข่งขันที่ฟุกุโอกะจัดขึ้นที่ Fukuoka Kokusai Center
สนามแข่งซูโม่เรียวโกคุเป็นสถานที่แข่งซูโม่ที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในวงการซูโม่ญี่ปุ่น ทั้งในเรื่องของประวัติศาสตร์และความน่าสนใจของตัวสถานที่เอง รวมถึงสิ่งต่างๆที่มีให้ทำมากมายนอกจากการดูซูโม่
นอกจากจะเป็นสนามที่มีการแข่งขันบ่อยที่สุดแล้ว ยังเป็นเหมือนกับดินแดนศักดิ์สิทธิ์ของเหล่าคนรักซูโม่อีกด้วย เพราะประวัติศาสตร์ต่างๆเกี่ยวกับซูโม่ก็มักจะผูกอย่กับที่แห่งนี้ นอกจากนี้ รอบๆก็ยังเป็นที่รวมค่ายนักซูโม่ที่เยอะที่สุดในญี่ปุ่น ห้างร้านต่างๆมากมายที่ขายอาหารเพื่อนักซูโม่ ร้านที่ขายขนมของฝากเกี่ยวกับซูโม่ และถนนสายประวัติศาสตร์ สวนที่ระลึก หรือรูปปั้นต่างๆเกี่ยวกับฮีโร่นักซูโม่ในอดีตอีกหลายแห่ง
สนามแข่งซูโม่ Ryogoku Kokugikan สามารถเดินทางไปได้โดยรถไฟสาย JR Chuo-Sobu Line หรือรถไฟใต้ดินสาย Toei Oedo Line ไปลงที่สถานี Ryogoku จากสถานีเดินไปจนถึงสนามไม่ไกล และถ้าเป็นวันที่มีแข่งจะมีกิจกรรมต่างๆให้ดูมากมาย เช่นตลาดนัดเล็กๆริมถนนที่มีเอกลักษณ์ตรงธงสีสันหลากหลาย มีของกินของฝากเล็กๆน้อยๆเกี่ยวกับซูโม่ให้เลือกซื้อมากมาย และตามทางเดินริมถนนก็มักจะมีคนจำนวนมากมายืนรอดูนักซูโม่ เหมือนกับสื่อบันเทิงมายืนรอดูดาราเดินพรมแดงที่งานแจกรางวัลลูกโลกทองคำยังไงยังงั้น ถือว่าเป็นบรรยากาศที่หาไม่ได้ถ้าไม่มาที่สนามแห่งนี้ด้วยตัวเองซักครั้ง
อธิบายอย่างสั้นๆและจำง่ายที่สุดก็คือ เช้าคนน้อย บ่ายคนเยอะ ถ้าอยากเดินรอบๆสนามเพื่อถ่ายรูป ให้รีบไปเช้าๆ แต่ถ้าอยากเชียร์นักซูโม่เก่งๆ ดังๆ ระดับสูงๆ ให้ไปตอนบ่าย
ตั๋วซูโม่หนึ่งใบนั้นสำหรับหนึ่งวัน เมื่อเราซื้อแล้วสามารถอยู่ในสนามได้ตั้งแต่เช้าจรดเย็น และการแข่งขันในหนึ่งวันของซูโม่นั้นจะมีจัดแข่งทุกระดับ พูดง่ายๆคือนักซูโม่แทบทุกคนจะมีตารางต้องลงแข่งยกเว้นคนที่ได้พัก โดยไล่จากระดับล่างสุดในตอนเช้า ไปจบที่ระดับสูงสุดในเวลาประมาณหกโมงเย็น
ถ้าใครไปดูตั้งแต่เช้าจะพบว่านักซูโม่ที่แข่งอยู่เป็นมือใหม่ที่เพิ่งเริ่มได้ไม่นาน ถ้าสังเกตดีๆจะเห็นว่าบางคนตัวยังไม่ใหญ่ด้วย เพราะว่าตอนเช้าเป็นเวลาของนักซูโม่หน้าใหม่นั่นเอง และสนามแข่งก็จะยังเต็มไปด้วยเก้าอี้ที่ว่างเพราะคนส่วนใหญ่มักเลือกจะเริ่มมาชมรอบบ่ายๆ ที่นักซูโม่ดังๆเริ่มลงแข่ง
ในภาพด้านบนถ่ายตั้งแต่เช้าประมาณ 9-10 โมง จะเห็นว่าแม้แต่ที่นั่งสีเขียวใกล้ขอบสนาม ซึ่งเป็นที่นั่งที่ดีและแพงที่สุดที่แฟนพันธ์แท้จะจองกันจนเต็มเสมอ (เรียกว่า ทามาริเซกิ) ก็ยังไม่มีคนมานั่งดู เพราะว่ารอบเช้าๆนั้นยังไม่น่าสนใจเท่ารอบบ่ายนั่นเอง
มารยาทระหว่างชมซูโม่
มารยาทไม่ยาก หลักๆคือเหมือนกับการไปคอนเสิร์ตหรือการชมกีฬาอื่นๆนั่นเอง แต่จะเพิ่มเติมความเข้มงวดขึ้นมาในเรื่องของที่นั่งและการไม่รบกวนผู้อื่น
- สำหรับผู้คนในทุกที่นั่ง สามารถกินดื่มได้ตามปกติหากรักษาความสะอาดและไม่รบกวนที่นั่งข้างๆ
- ไม่ควรยืนขึ้นระหว่างการแข่งเพราะจะบังคนที่อยู่ข้างหลัง
- สำหรับที่นั่งชั้นดีที่สุดที่เรียกว่า ทามาริเซกิ (Ringside) เป็นที่นั่งที่ใกล้กับเวทีที่สุดและเป็นที่นั่งแบบนั่งพื้นทั้งหมด หากจะจองที่นั่งตรงนี้ต้องระวังเรื่องมารยาทของตนเองมากเป็นพิเศษด้วย แม้จะแพงกว่าแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าสบายกว่า อะไรๆก็อาจจะลำบากกว่าเดิมได้ก่อนจองจึงต้องระวัง
สิ่งที่ลำบากกว่าที่นั่งราคาถูกก็อย่างเช่น ห้ามกินอาหาร เข้าออกยากมาก ต้องถอดรองเท้า และการนั่งขัดสมาธิยาวๆก็อาจจะเมื่อยสำหรับคนที่ไม่ชิน เป็นต้น ส่วนใหญ่คนที่นั่งตรงนี้จึงเป็นคนญี่ปุ่นเท่านั้น และเราไม่แนะนำสำหรับมือใหม่ - ผู้นั่งทามาริเซกิแถวหน้าสุด ต้องระวังนักซูโม่ที่ตกลงจากเวทีมาด้วยตัวเอง (แต่ปกติกรรมการซึ่งนั่งอยู่ข้างหน้า จะเป็นอดีตนักซูโม่และตัวใหญ่เหมือนกัน จะคอยป้องกันให้) หลากหลายรูปแบบในญี่ปุ่น